การยศาสตร์ (Ergonomics) หรือปัจจัยมนุษย์วิศวกรรม (Human Factors Engineering)
เผยแพร่เมื่อ: 03/01/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรนิภา บริบูรณ์สุขศรี, รองผู้อำนวยการสำนักวิจัย
อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมความปลอดภัยมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์...,
การยศาสตร์ (Ergonomics) หรือปัจจัยมนุษย์วิศวกรรม (Human Factors Engineering) หมายถึง การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมในสภาวะการทำงานต่างๆ โดยการประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพของมนุษย์มาประสานเข้ากับองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมและกลศาสตร์เพื่อนำมาออกแบบและจัดสภาพการปฏิบัติงานให้เกิดความเหมาะสมกับความสามารถและข้อจำกัดของร่างกายผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีไม่เกิดความเมื่อยล้าและลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงานลงนั่นเอง
ความสำคัญของการยศาสตร์
การทำงานในสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมโดยทั่วไปผู้ปฏิบัติงานย่อมมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับสิ่งคุกคามสุขภาพในสิ่งแวดล้อมการทำงานได้หลายประเภท หนึ่งในนั้นคือสิ่งคุกคามด้านการยศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างตัวผู้ปฏิบัติงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานเช่นลักษณะของเครื่องจักรและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ถูกออกแบบมาไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของคนไทย การจัดพื้นที่ปฏิบัติงาน (Workstation) ที่ไม่สอดคล้องกับความแตกต่างและข้อจำกัดของมนุษย์ตลอดจนท่าทางการทำงานที่ฝืนธรรมชาติ เป็นต้น การที่ผู้ปฏิบัติงานต้องสัมผัสกับสิ่งคุกคามดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานได้โดยสามารถแบ่งเป็น 2 ลักษณะประกอบด้วย
- ผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานเช่นความเมื่อยล้าความเครียดจากการทำงานซึ่งจะส่งผลให้ลดประสิทธิภาพและความสามารถของร่างกายรวมทั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพบั้นปลายชีวิตของผู้ปฏิบัติงานได้
- ผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของงาน เมื่อความตั้งใจและสมาธิในการทำงานลดลงขณะเดียวกันความเมื่อยล้าและความเครียดที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความเบื่อหน่ายต่องานที่ทำความผิดพลาดในการทำงานจะเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพของงานลดลง
สถานประกอบการและอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไปได้มีการใช้เครื่องจักรกลหลายประเภทในกระบวนการผลิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับสภาพองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ผู้ปฏิบัติงาน วัสดุ และระยะเวลาให้เกิดความเหมาะสมกับลักษณะการทำงานของเครื่องจักร สภาวะที่เกิดขึ้นนี้จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการพยายามปรับคนให้เข้ากับงานที่ทำ (Fitting the man to the job) ซึ่งผู้ที่อยู่ในสภาวะนี้จะอยู่ในลักษณะของการจำยอมที่ต้องคล้อยตามระบบ ทั้งนี้เพราะงานหรือเครื่องจักรกลต่าง ๆ ดังกล่าวได้มีการออกแบบและสร้างขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่จะออกแบบขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยและกลไกหรือกระบวนการผลิตต่าง ๆ แต่มิได้คำนึงถึงความสะดวกสบายของคนที่ทำงานและผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นนักซึ่งจะส่งผลให้สถานประกอบการมีความเสี่ยงที่จะประสบกับปัญหาดังต่อไปนี้
- ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตลดลง
- อัตราเกิดความผิดพลาดหรืออุบัติเหตุสูงหรือเพิ่มขึ้น
- อัตราการหยุดงานสูงหรือเพิ่มขึ้น
- อัตราการลาออกของผู้ปฏิบัติงานสูงหรือเพิ่มขึ้น
- การสูญเสียด้านเวลามีมากหรือเพิ่มขึ้น
- ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลมีมากหรือเพิ่มขึ้น
- ผู้ปฏิบัติงานมีความเครียดความเมื่อยล้าที่อาจนำไปสู่การเป็นโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน
ดังนั้นการนำเอาแนวปฏิบัติของการยศาสตร์มาประยุกต์ใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมคือการปรับงานให้เหมาะสมกับคนงาน “Fitting the job to the worker” ซึ่งหากมีการปฏิบัติได้จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความสะดวกสบายและยังช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุการบาดเจ็บและการร้องเรียนของผู้ปฏิบัติงานได้ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นการเพิ่มผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพตามมา
ตัวอย่างที่ใช้หลักการด้านการยศาสตร์มาใช้งานจริง ได้แก่
(1) การศึกษาวิจัยเรื่อง “การออกแบบเก้าอี้กึ่งนั่งกึ่งยืนเพื่อลดความเมื่อยล้ากล้ามเนื้อของพนักงานที่ยืนปฏิบัติงานเป็นเวลานาน : กรณีศึกษาโรงงานผลิตอาหารทะเล” โดยยึดหลักด้านการยศาสตร์และการวัดขนาดสัดส่วนร่างกายมาเป็นเกณฑ์ในการออกแบบซึ่งเก้าอี้ที่ออกแบบปรับปรุงใหม่สามารถลดความเมื่อยล้ากล้ามเนื้อและช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานได้เป็นอย่างดี
(2) การศึกษาวิจัยเรื่อง “การลดภาวะเมื่อยล้ากล้ามเนื้อจากการทำงานด้วยวิธีกายบริหารสุขภาพ : กรณีศึกษาพนักงานฝ่ายผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง” พบว่าหลังจากที่พนักงานได้ฝึกกายบริหารสุขภาพหลังเลิกงานแล้วพนักงานมีความรู้สึกเมื่อยล้าร่างกายทั่วไปและความรู้สึกเมื่อยล้ากล้ามเนื้อเฉพาะที่ลดลง
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยด้านการยศาสตร์ที่สามารถบูรณาการให้เข้ากับภาคอุตสาหกรรมที่พบบ่อยในสถานีงานเชื่อมชิ้นงานซึ่งพนักงานมักจะได้รับสัมผัสสิ่งคุกคามสุขภาพจากการทำงาน โดยเฉพาะฟูมโลหะจากการเชื่อม ดังนั้นการออกแบบสถานีงานเชื่อมโดยยึดหลักการยศาสตร์และการใช้องค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมการออกแบบระบบระบายอากาศเข้ามาประยุกต์ใช้จริงเป็นสิ่งสำคัญ
(3) การศึกษาวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงสถานีงานเชื่อมไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับการฝึกทักษะปฏิบัติทางวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์” การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสถานีงานเชื่อมไฟฟ้า โดยยึดหลักการด้านวิศวกรรมมนุษยปัจจัยและการระบายอากาศแบบเฉพาะที่เพื่อลดความเมื่อยล้ากล้ามเนื้อขณะเชื่อมชิ้นงานและลดการสัมผัสสารปนเปื้อนที่เกิดจากการเชื่อมซึ่งพบว่าสถานีงานเชื่อมเดิมมีปัญหาความเมื่อยล้าและการระบายอากาศ ดังนั้นจึงได้ทำการปรับปรุงสถานีงานเชื่อมใหม่ให้ถูกหลักการยศาสตร์ โดยอ้างอิงตามการวัดขนาดสัดส่วนร่างกายที่สำคัญและสร้างฮูดพร้อมท่อทางออกชนิด Slot Hood มีปีกแบบเทปเปอร์ขนาดพื้นที่หน้าตัด 730 ตร.ซม. พื้นที่สล๊อต 175 ตร.ซม. เพื่อดูดจับมลพิษและทดสอบประสิทธิภาพของฮูดดูดอากาศผลการศึกษาพบว่าขณะปฏิบัติงานบนสถานีงานเชื่อมไฟฟ้าที่ปรับปรุงใหม่มีความรู้สึกเมื่อยล้าร่างกายทั่วไปน้อยกว่าปฏิบัติงานบนสถานีงานเชื่อมไฟฟ้าเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p < 0.05 ) และผลการวิเคราะห์สารปนเปื้อนพบว่าสถานีงานเชื่อมที่ปรับปรุงใหม่มีความเข้มข้นของสารเคมีน้อยกว่าสถานีงานเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p < 0.05 ) เช่นกัน
รูปที่ 1 สถานีงานเชื่อมไฟฟ้าแบบดั้งเดิมและสถานีงานเชื่อมไฟฟ้าที่ปรับปรุงใหม่ตามหลักการยศาสตร์
จุดมุ่งหมายของการยศาสตร์
การประยุกต์ใช้การยศาสตร์ในสถานที่ปฏิบัติงานมีจุดมุ่งหมายหลักที่สำคัญ 3 ประการคือ
- ความสะดวกสบาย (Comfortable)
- ความปลอดภัย (Safety)
- ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)
โดยสิ่งประสงค์ที่จะให้เพิ่มขึ้น (Increased) ได้แก่ สุขภาพอนามัย (Health) ประสิทธิภาพ (Efficiency) ประสิทธิผล (Effectiveness) ปริมาณงาน (Quantity) คุณภาพ (Quality) คุณภาพชีวิต (Quality of life) และสิ่งที่ประสงค์ให้ลดลง (Decreased) ได้แก่ความไม่สะดวกสบาย (Uncomfortable) ความเครียด (Stress) ความเมื่อยล้า (Fatigue) ความผิดพลาด (Error) การสูญเสียเวลา-วัสดุ-ค่าใช้จ่ายการเกิดอุบัติเหตุ (Accident) โรคจากการทำงานการหยุดงานและการลาออกเป็นต้น