การสังเกตการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย

เผยแพร่เมื่อ:  15/01/2563 ....,

เขียนโดย สวินทร์  พงษ์เก่า,  Safety Professional...,

 

สรุปประเด็นสำคัญเรื่อง การสังเกตการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย

การสังเกตการปฏิบัติงานเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าที่จะช่วยให้ท่านในฐานะหัวหน้างานสามารถใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานที่ท่านควบคุมดูแลได้อย่างเหมาะสมและยังเป็นสร้างความผูกพัน ระหว่างหัวหน้างาน (จป.หัวหน้างาน) กับ ผู้ปฏิบัติงานในการทำงานร่วมกัน  ช่วยเหลือ สนับสนุน ตลอดจนการยกระดับการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด เทคนิคการสังเกตการปฏิบัติงานนี้จะทำให้หัวหน้างานทราบว่าผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนที่เราบังคับบัญชาอยู่ ปฏิบัติตามที่มอบหมายอย่างไร  และยัง ทราบอีกว่าผู้ปฎิบัติท่านนั้น ทำงานได้ดีเพียงใดอีกด้วย หากหัวหน้างานได้นำเทคนิคดังกล่าวไปใช้อย่างมีระบบตามวงจร PDCA แล้ว เทคนิคดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด

▶️ การสังเกตการปฏิบัติงานมี  2 ประเภท คือ

  1. การสังเกตการปฏิบัติงานแบบไม่เป็นทางการ
  2. การสังเกตการปฏิบัติงานแบบเป็นทางการ  (แบบมีแผน)

 

โดยมีขั้นตอนสำคัญในการสังเกตการปฏิบัติงานอย่างแบบเป็นทางการคือ  การเตรียมการ,การสังเกต,การพูดคุย,การบันทึกและการติดตามผล

1.  การเตรียมการ (PLAN)

ตัดสินใจว่าจะสังเกตงานอะไร สังเกตใคร เหตุผลในการสังเกตเช่น สังเกตเพราะเป็นงานที่มีความเสี่ยง สังเกตเพราะเป็นผู้ปฏิบัติงานใหม่ สังเกตเพราะเพิ่งเป็นตำแหน่งงานมา สังเกตเพราะเพิ่งหายจากการบาดเจ็บ เป็นต้น แต่มีผู้ปฏิบัติงานอีกกลุ่มหนึ่งที่เราต้องไม่ละเลยคือ ผู้ปฏิบัติงานที่มีศักยภาพและมีผลการทำงานที่ดี การสังเกตผู้ปฏิบัติงานกลุ่มนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการทำงานให้สูงขึ้น และยังเป็นต้นแบบที่ดีในการทำงานอีกด้วย หัวหน้างานจะนำทุกปัจจัยดังกล่าวมากำหนดเป็นแผนงานการสังเกตการปฏิบัติงาน(PLAN) จัดทำกำหนดเป็นตารางเวลาที่จะดำเนินการและทบทวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องก่อนการสังเกตแต่ละครั้งก่อนดำเนินการสังเกตการปฏิบัติงานต่อไป

2. การสังเกต  DO/Deploy)   

ข้อแนะนำการปฏิบัติคือ ยืนสังเกตในนอกเส้นทางการทำงานของพนักงาน โดยรบกวนการทำงานของผู้ที่ถูกสังเกตให้น้อยที่สุด และมุ่งความสนใจไปยังจุดที่ทำการสังเกต ในขั้นตอนนี้หากต้องการรู้ว่าผู้ปฏิบัติงานทำงานอย่างไร ผู้สังเกตควรแจ้งให้ผู้ที่ถูกสังเกตรับทราบ แต่หากการสังเกตมีวัตถุประสงค์ว่าต้องการรู้ว่าผู้ปฎิบัติท่านนั้นทำงานได้ดีเพียงใด เราก็อาจไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกสังเกตทราบล่วงหน้า

ข้อควรระวัง หากขณะสังเกตการปฏิบัติงานพบว่า ผู้ที่กำลังถูกสังเกตการปฏิบัติงานทำงานที่อาจเกิดความเสี่ยง และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ/อุบัติการณ์ที่มีความรุนแรง ผู้สังเกตจะต้องสั่งหยุดการปฏิบัติงานทันที (Stop work) 

3. การพูดคุย (CHECK)

มี 2 ลักษณะ  คือ

       3.1) การพูดคุยทันที เช่น การขอบคุณในการช่วยเหลือ,การสอบถามจุดที่ยังไม่ชัดเจนที่ผู้ที่ทำการสังเกตสามารถให้คำแนะนำหรือชมเชยตามความเหมาะสม และแจ้งให้พนักงานได้ทราบว่าเมื่อใดจะมีการพูดคุยที่สมบูรณ์อีกครั้ง

       3.2) การพูดคุยถึงผลการปฏิบัติงานอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะต้องมีการวางแผนการพูดคุยไว้ล่วงหน้า เพื่อทำการปรับปรุงแก้ไข และ/หรือการยกระดับให้เกิดการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพความปลอดภัย และมีปะสิทธิภาพสูงขึ้น ในขั้นตอนนี้ จะต้อง ทำงานสื่อสารแบบ 2 way คือ มีทั้งการพูดคุยและต้องมีการประเมินการรับรู้ของผู้ที่เราพูดคุยด้วยอย่างชัดเจน

4. การบันทึก (ACT)

จะต้องมีการบันทึกผลจากการสังเกต ซึ่งจะช่วยให้การสังเกตการปฏิบัติงานมีความสมบูรณ์มากขึ้น รวมทั้งมีข้อมูลในการพูดคุยถึงผลการปฏิบัติงาน และมีระบบเอกสารที่สมบูรณ์

5. การติดตามผล (FOLLOW UP) 

เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด จะต้องมีการติดตามผลทั้งในส่วนที่ผู้ทำการสังเกตเห็นว่าน่าจะทำและในส่วนที่ผู้ถูกสังเกตบอกว่าจะทำอันจะนำไปสู่การปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง

 

 การดำเนินการสังเกตการปฏิบัติงานตามแผนจะช่วยให้

  1. สามารถระบุการกระทำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหายความสูญเสียและการขาดประสิทธิภาพ
  2. สามารถตัดสินใจกำหนดความต้องการที่ชัดเจนในการสอนงาน และการอบรม
  3. สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับนิสัยการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานได้ดีขึ้น
  4. ตรวจสอบความเพียงพอของข้อกำหนดและวิธีการปฏิบัติงานขณะนั้น
  5. ติดตามประสิทธิภาพของการอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพ ณ.ปัจจุบัน
  6. ให้คำแนะนำเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขในแต่ละจุดได้เหมาะสม
  7. เห็นภาพของพฤติกรรมที่ชัดเจนสำหรับการให้รางวัล และการบังคับควบคุม
Visitors: 414,627