“ความเสี่ยงด้านสุขภาพอนามัยในการทำงาน : ตอนที่ 1 การทำงานเกี่ยวกับความร้อน”

เผยแพร่เมื่อ:  20/01/2563 ....,

เขียนโดย ณัฐนิชา ทองอ่วม, จป.วิชาชีพ
              คณะกรรมการสมาคมพยาบาลอาชีวอนามัยแห่งประเทศไทย
...,

 

“การทำงานเกี่ยวกับความร้อนมีความสำคัญต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก  ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพื่อให้ลูกจ้างปลอดภัยแล้วก็ตาม  แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่า การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพในการทำงานเกี่ยวกับความร้อนยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ทำให้ลูกจ้างหลายคนที่เกิดปัญหาด้านสุขภาพไม่อาจถูกระบุได้ว่าเป็นโรคจากการทำงาน ”

ความร้อน (Heat) นับว่าเป็นสิ่งคุกคาม (Hazard) ต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยปกติร่างกายของมนุษย์จะมีการถ่ายเทความร้อนกับสิ่งแวดล้อมผ่านทางผิวหนังตลอดเวลาเพื่อให้ร่างกายรักษาสมดุลอุณหภูมิของร่างกายปกติไว้โดยสมองส่วนที่มีชื่อว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) เมื่อสิ่งแวดล้อมภายนอกมีอุณหภูมิสูงขึ้นและ/หรือร่างกายมีกิจกรรมที่ใช้เมตาบอลิซึมมากขึ้นจะส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งกลไกของร่างกายจะมีการปรับสมดุลให้ร่างกายมีอุณหภูมิลดลง  เช่น หลอดเลือดจะขยายตัว รูขุมขนเปิดกว้างเพื่อระบายเหงื่อ และการลดเมตาบอลิซึมของร่างกายลง เป็นต้น  ดังนั้นในการทำงานที่มีความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้องจึงส่งผลต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานโดยตรง สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างทำงานกับความร้อนจนกระทั่งเกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้เขียนพบว่า  จป.วิชาชีพ หลายๆท่านมีปัญหาในเรื่องต่างๆ อาทิ

  1. การประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Risk Assessment) เช่น ไม่ทราบว่าต้องตรวจระดับความร้อน ณ ตำแหน่งใดในพื้นที่การทำงานจึงจะถูกต้องที่สุด , ไม่สามารถประเมินได้ว่าสภาวะการทำงานนั้นเป็นงานเบา งานปานกลาง หรืองานหนัก โดยคำนวณอัตราการเผาผลาญอาหารของร่างกาย (Metabolism) หน่วยเป็น กิโลแคลอรี/ชั่วโมง
  2. การประเมินการรับสัมผัสของผู้ปฏิบัติงาน (Exposure Assessment), การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงว่าควรตรวจอะไร เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูค่า Creatinine และค่า Electrolyte ว่าผิดปกติหรือแนวโน้มผิดปกติหรือไม่  และอาจรวมไปถึงการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ (Health Risk Assessment ;HRA)
  3. ไม่ชำนาญในการวางแผนการลด/ควบคุมความร้อนโดยหลักการทางวิศวกรรม เช่น การออกแบบและคำนวณระบบระบายอากาศ การเลือกใช้วัสดุดูดซับหรือระบายความร้อน เป็นต้น, การบริหารจัดการเพื่อลดระยะเวลาสัมผัสความร้อน  รวมถึงการเลือกใช้ PPE อย่างมีประสิทธิภาพหากจำเป็นต้องให้ลูกจ้างเข้าไปทำงานนั้น
  4. ไม่ทราบอาการและอาการแสดงของผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับความร้อนที่อาจแยกแทบไม่ออกกับอาการจากโรคประจำตัว ได้แก่ อาการเป็นตะคริวที่ขา 2 ข้าง หรือทั้งตัว(Heat cramp) , เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มีไข้ ปวดศีรษะเวียนศีรษะ (Heat exhaustion), เป็นลม หมดสติ จนถึงเสียชีวิต จาก Heat Stroke 

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นผู้เขียนจึงมีความเห็นส่วนตัวว่า ในกรณีที่ จป.วิชาชีพ หรือบุคลากรในสถานประกอบการไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และประเมินการรับสัมผัสของผู้ปฏิบัติงาน แนะนำว่า  จป.วิชาชีพ ควรเสนอแนะให้นายจ้างนำผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชกรรมซึ่งมีให้เลือกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาประเมินร่วมกัน และหาแนวทางบริหารจัดการเพื่อลด/ควบคุมความเสี่ยงนั้นลง  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ จป.วิชาชีพ ที่จะได้เพิ่มศักยภาพตนเองอีกด้วย

สมัยที่ผู้เขียนเป็นพยาบาลวิชาชีพประจำแผนกฉุกเฉินนั้น ยังไม่มีกฎกระทรวงฯที่กำหนดให้มี จป.ระดับต่างๆ และการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯของนายจ้าง  พบผู้ป่วยที่ทำงานอยู่โรงงานหลอมโลหะเป็นตะคริวที่ขา 2 ข้าง มารักษาอยู่หลายครั้งครั้งสุดท้ายที่พบกันมีภาวะไตวายเฉียบพลัน(ค่า Creatinine สูง) เกลือแร่ในร่างกายแปรปรวน(Electrolyte ผิดปกติ) ในแต่ละครั้งที่มาโรงพยาบาลจะใช้สิทธิ์ประกันสังคม เนื่องจากฝ่ายบุคคลของโรงงานเข้าใจว่าเป็นโรคจากสาเหตุส่วนตัว ประกอบกับยังไม่มีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็น “โรคจากความร้อน เป็นโรคจากการทำงาน” ซึ่งใช้สิทธิ์กองทุนเงินทดแทนในการรักษาพยาบาลและได้รับค่าชดเชยตามสิทธิ์ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายกำหนด จนกระทั่งปัจจุบันที่ผู้เขียนเป็น จป.วิชาชีพ และวิศวกรความปลอดภัย ก็ยังพบว่ามีลูกจ้างที่มีอาการและอาการแสดงว่าเป็นโรคจากความร้อนไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงาน เมื่อดูข้อมูลเชิงลึกลงไปถึงสาเหตุของการไม่ได้รับการวินิจฉัยดังกล่าว พบว่ามาจากการแจ้งสาเหตุในการส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลไม่ใช่จากการทำงาน เช่น ให้ใช้สิทธิ์ประกันชีวิตที่เป็นสวัสดิการของบริษัท , เข้าใจว่าเป็นจากสุขภาพของลูกจ้างเองจึงให้ใช้สิทธิ์ประกันสังคม แต่ที่เลวร้ายที่สุด คือ ไม่ต้องการให้ใช้กองทุนเงินทดแทนเพราะไม่อยากส่งรายงานแก่ราชการ!!!….ดังนั้น ทุกท่านไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมประเทศไทยจึงมีสถิติผู้ได้รับเงินกองทุนเงินทดแทนจากความร้อนในการทำงานเพียงเค่ 1 คน ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2556-2560)  ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหันมาดูแลเรื่องปัญหาความร้อนในการทำงานกันอย่างจริงจังเสียทีไม่ใช่ขอไปทีแบบที่ผ่านมา

Visitors: 414,600