“Safety Demonstration Station..สร้างการรับรู้ความเสี่ยงให้ผู้ปฏิบัติงาน”
เผยแพร่เมื่อ: 16/04/2563....,
เขียนโดย อัญชลี สุขรักษ์, ผู้จัดการส่วนความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขาที่ 6...,
“การทำงานสายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยความมุ่งหวังสูงสุดคือการทำให้ทุกคนในองค์กรทำงานอย่างปลอดภัยปราศจากอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน เมื่อเกษียณออกไปแล้วมีสุขภาพดี คุณภาพชีวิตที่ดี หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) อย่างเราๆ คือการให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักถึงอันตราย เพราะเค้าเหล่านั้น คือคนที่จะ “เลือก” หรือ “ไม่เลือก” ทำในสิ่งที่ปลอดภัยในแต่ละวันด้วยตนเองและผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรกับตนเอง หากเขาเหล่านั้น “เลือกที่จะทำงานอย่างเสี่ยงๆ” อยู่ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร
เมื่อพิจารณาตามหลักการเรียนรู้ 70:20:10 model ในการเรียนรู้และพัฒนา (70:20:10 Model in Learning&Development) พบว่า..
- 70% เกิดจากประสบการณ์จากการทำงาน และการคิดแก้ปัญหา (ลงมือทำหรือประสบการณ์จริง)
- 20% เกิดจากการได้รับข้อมูลย้อนกลับจากพี่เลี้ยง หรือโค้ช
- 10% ได้มาจากการเข้าฝึกอบรมหรือการอ่าน (อบรมสัมมนา)
จะเห็นว่าการอบรมความปลอดภัยในห้องเรียนนั้นผู้รับการอบรมสามารถเรียนรู้และนำไปพัฒนาได้เพียง 10% แต่อีกกว่า 70% เกิดจากประสบการณ์และการคิดแก้ปัญหา จึงได้เกิด Safety Demonstration Stationขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์จำลองเหตุการณ์อุบัติเหตุให้สัมผัสจริงพร้อมกระตุ้นผู้ปฏิบัติงานให้คิดวิเคราะห์ด้วยตนเองถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น”
“อนึ่ง โครงการนี้ เป็นนวัตกรรมใหม่ของพื้นที่ที่เกิดจากการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุการเรียนรู้จากการดูงานนอกสถานที่ ประสบการณ์ผู้เชี่ยวชาญงานซ่อมบำรุงที่มีกิจกรรมการถอดหน้าแปลนจำนวนมาก ถึงแม้ว่าการเตรียมระบบ การตัดแยกระบบต่างๆ (Isolation) เช่น ความดันในท่อ สารไฮโดรคาร์บอน น้ำร้อน/ไอน้ำร้อน เพื่อให้ปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงานสูงสุดด้วยระบบใบอนุญาตทำงาน (Permit to work) ซึ่งแน่นอนว่าปกติแล้วสารไฮโดรคาร์บอน สารเคมีอันตรายต่างๆ ปกติอยู่ในระบบปิด แต่เมื่อเรามีกิจกรรมซ่อมบำรุงดังกล่าว อาจมีโอกาสสัมผัส Hazard เหล่านี้ได้ ดังนั้น กระบวนการถอดหน้าแปลนนั้นต้องกระทำด้วยมาตรการความปลอดภัยสูงสุด ผู้ปฏิบัติงานจะต้องพึงตระหนักตลอดเวลาว่าอาจจะมีสิ่งที่ตกค้างอยู่ในระบบ และอาจพุ่งออกมาทำอันตรายต่อตนเองได้
เมื่อเราได้ให้ผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านการอบรมความปลอดภัยและได้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้โดยให้ “รับรู้ความเสี่ยงด้วยตนเอง” โดยวิธี Safety Demonstration Station แล้ว จำนวนกว่า 300 คนที่เกี่ยวข้องกับทำงานถอดหน้าแปลน พบว่าผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วม ได้เห็นและรับรู้ถึงอันตรายจริงจาก station จำลอง เกิดความตระหนักและทำงานตามขั้นตอนการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในครั้งนี้ และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่จะต้องมีต่อยอดไปถึงกิจกรรมเสี่ยงอื่นๆ เพื่อครอบคลุมทุกความเสี่ยงบรรลุตามวัตถุประสงค์งานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยต่อไป”