“แนวความคิดการทำงาน จุดเริ่มต้นของ จป.วิชาชีพ”

เผยแพร่เมื่อ:  01/05/2563....,

เขียนโดย วัลลภ อยู่ภิญโญ, บริษัท เอ็มอีอี จำกัด...,

 

“การเริ่มต้นทำงาน จป. มือใหม่” ในสถานประกอบการที่ยังไม่เคยมีระบบด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในสถานประกอบการมาก่อน

เมื่อคุณได้ถูกคัดเลือกให้มาทำงาน จป.วิชาชีพในสถานประกอบการแห่งหนึ่ง ที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องเริ่มทำระบบอาชีวอนามัย และความปลอดภัย ฯ ให้ถูกต้องและสอดคล้องตามกฎหมายจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะมีน้องๆ จบใหม่ เข้าไปทำงานได้พักเดียว พากันลาออก เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ทำให้นายจ้างปวดหัว เพราะถ้ารับคนมีประสบการณ์มาก ค่าจ้างก็สูงดังนั้น จึงมาแนะนำน้อง จป.วิชาชีพที่จบใหม่...


 งานที่ จป.วิชาชีพ ต้องทำเร่งด่วน คือ

  1. ร่างนโยบายความปลอดภัย ของสถานประกอบการ เพื่อเสนอนายจ้างลงนามประกาศให้พนักงานทุกระดับ รับทราบ (ให้หาตัวอย่างจาก googleเป็นแนวทางจัดทำ ในอนาคตเราปรับเปลี่ยนได้ตลอด)
  2. จัดทำคู่มือความปลอดภัย ฯ ของสถานประกอบการ เป็นรูปเล่ม (ในเล่มคู่มือประกอบด้วยนโยบายความปลอดภัย ฯ กฎข้อบังคับด้านอาชีวอนามัยฯ รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของสถานประกอบการทุกขั้นตอน และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ฯ ให้ลูกจ้างเรียนรู้ปฏิบัติตามคู่มือ)
  3. เสนอนายจ้างให้ส่งลูกจ้างอบรม จป. ตามบทบาทหน้าที่ ซึ่งตำแหน่งผู้จัดการ อบรม จป.ระดับบริหาร และผู้ควบคุมงาน อบรม จป.ระดับหัวหน้างาน 
  4. ร่างหนังสือเสนอนายจ้าง แต่งตั้ง จป. บริหาร จป.หัวหน้างาน จป.วิชาชีพ ให้นายจ้างลงนาม
  5. แจ้งขึ้นทะเบียน จป. บริหาร จป.หัวหน้างาน และ จป.วิชาชีพ กับทางสวัสดิการคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่สถานประกอบการขึ้นอยู่ให้นายจ้างลงนาม หรือตัวแทน จัดเตรียมเอกสาร 2 ชุด ซึ่งนำสำเนามาเก็บไว้ 1 ชุด
  6. เมื่อลูกจ้างในสถานประกอบการ มีจำนวน 50 คนขึ้นไป ต้องตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย ฯ คปอ. โดยการประกาศรับสมัครเลือกตั้ง โดยมีรายละเอียดขั้นตอนตามกฎหมาย ฯ
  7. จัดส่งลูกจ้างที่ได้รับการคัดเลือก เข้าอบรมหลักสูตรคณะกรรมการความปลอดภัย ฯ คปอ.ในสถาบันที่เปิดอบรมตามกฎหมาย 
  8. ร่างหนังสือเสนอนายจ้าง แต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย ฯ คปอ. ให้นายจ้างลงนาม 
  9. แจ้งขึ้นทะเบียนคปอ. กับทางสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ในเขตพื้นที่สถานประกอบการ ให้นายจ้างลงนาม หรือตัวแทน จัดเตรียมเอกสาร 2 ชุด ซึ่งนำสำเนามาเก็บไว้ 1 ชุด
  10. จัดประชุม คปอ.อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และทำเอกสารรายงานการประชุม เพื่อติดตามการแก้ไข 
  11. จัดทำรายงาน จป.ว การดำเนินงานด้านความปลอดภัย ฯ ทุกๆไตรมาส ให้นายจ้างลงนาม ทำสำเนา 1 ชุด ส่งทางสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ประทับตรา 1 ชุด เก็บไว้สถานประกอบการ
  12. เสนอนายจ้าง การซ้อมดับเพลิงเบื้องต้น ปีละ 1 ครั้ง จ้างหน่วยงานที่ทางราชการรับรอง มาฝึกซ้อมให้ และให้ส่งรายงานการฝึกซ้อม แผนฉุกเฉิน กับทางสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน


 งานทั่วไปที่ จป.วิชาชีพ ต้องทำ

  1. จัดอบรมความปลอดภัย ฯ คนงานใหม่ ที่เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนพื้นที่ทำงาน ให้ลูกจ้างรับทราบมาตรการวิธีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย ตามคู่มือความปลอดภัยฯ ให้เข้าใจได้มากที่สุด
  2. จัดเก็บทะเบียนประวัติคนงานที่ผ่านการอบรมความปลอดภัย ฯ กรอกแบบฟอร์มข้อมูลเบื้องต้น สำเนาบัตร รูปถ่าย จัดแยกแผนก หรือระบบงาน เพื่อตรวจสอบได้ง่ายยิ่งขึ้น
  3. ให้ลูกจ้างทำแบบทดสอบ เพื่อประเมินแนวความคิดด้านความปลอดภัยฯ
  4. จัดทำบัตรคนงาน ที่ผ่านการอบรมความปลอดภัย ฯ ให้ลูกจ้างพกติดเมื่อเข้ามาทำงาน
  5. จัดเสื้อฟอร์มให้ลูกจ้างสวมใส่ หลังจากผ่านการอบรมความปลอดภัย ฯ

 

  "กิจกรรมตรวจสอบด้านความปลอดภัยฯ" ประจำวัน ประจำสัปดาห์ ประจำเดือน

  1. ตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้า ให้พร้อมใช้งาน ติด TAG ให้เรียบร้อย
  2. จัดลำดับความสำคัญของงาน ในการตรวจความปลอดภัย
  3. ตรวจสอบการทำงานของลูกจ้าง ประเมินด้านความปลอดภัยฯ เสนอแนะด้านความปลอดภัย หน้างานจริง
  4. จัดทำแบบฟอร์มเอกสาร Work Permit เพื่อควบคุมงานความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น งานความร้อน
  5. จัดทำรายงานการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ ประจำเดือน นำเสนอนายจ้าง ในส่วนที่ต้องมีการปรับปรุง หรือจัดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมในการป้องกัน ชี้แจงตามเหตุผลสมควร

 

 กิจกรรมส่งเสริมด้านความปลอดภัย ฯ

  1. จัดกิจกรรม Safety Talkประจำสัปดาห์ ให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในการพูดคุย ส่งเสริมด้านความปลอดภัย ฯ แจ้งข่าวสารต่าง ๆ ที่น่าสนใจ หรือเน้นย้ำเพิ่มเติมจุดเสี่ยง
  2. จัดกิจกรรม 5 ส. ในหน่วยงาน มีแรงจูงใจต่างๆ การชมเชย รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ
  3. จัดบอร์ดความปลอดภัย ข่าวสารเรื่องความปลอดภัย รูปอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความตระหนัก
  4. จัดกิจกรรม Safety Audit ภายในหน่วยงาน มีหัวหน้างานมาร่วมกันตรวจสอบจุดเสี่ยงต่าง ๆ และร่วมเสนอแนะแนวทางปรับปรุงแก้ไข ทำงานร่วมกัน
  5. จัดประชุมความปลอดภัย ประจำสัปดาห์ เชิญตัวแทนแต่ละฝ่ายเข้าร่วม จป.วิชาชีพ เสนอในส่วนเรื่องความปลอดภัย เช่น เกี่ยวกับการจัดหาอุปกรณ์ PPE ให้เพียงพอ ฯ
  6. ติดป้ายความปลอดภัยฯ หน้าสถานประกอบการ หรือสำนักงานชั่วคราว
  7. จัดพื้นที่รับประทานอาหาร ห้องน้ำ พื้นที่ทิ้งขยะ ให้เพียงพอกับพนักงาน


จปว.ลูกทุ่ง

**********************************************************

Visitors: 415,044