สิ่งประดิษฐ์เพื่องานความปลอดภัย “หุ่นยนต์ดับเพลิง”

เผยแพร่เมื่อ 6/9/2566
โดย สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.)

 

สิ่งประดิษฐ์เพื่องานความปลอดภัย “หุ่นยนต์ดับเพลิง” 

          หลายปีก่อน ช่วงที่ทำงานอยู่ที่โรงงานปิโตรเคมีและการกลั่น ทีมงานในสายงานด้าน Emergency ของ GC มี Pain Point ในการปฏิบัติงานที่หน้างาน กล่าวคือ ช่วงที่เกิดเหตุ มีสารไวไฟ สารเคมีอันตรายรั่วไหลออกมาจากกระบวนการผลิต แล้วจำเป็นต้องให้นักดับเพลิงเข้าไปจัดการและระงับเหตุ ซึ่งบางกรณีมีความเสี่ยงอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีคิดด้านการบริหารงานความปลอดภัย เราต้องป้องกันไม่ให้สารรั่วไหลออกมา โดยการจัดการด้าน Engineering Design หรือ Process Safety Management แต่หากมี Incident Case เกิดขึ้น ทางทีมดับเพลิงก็ยังคงต้องทำหน้าที่ระงับให้เหตุการณ์สงบโดยเร็ว 

          จาก Pain Point ดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นให้ทีมผู้ปฏิบัติงานช่วยกันคิดว่าจะหาเครื่องมือ เทคนิคหรือวิธีการใดๆ บ้าง เพื่อลดหรือบรรเทาความเสี่ยงของพวกเขา จากการปฏิบัติหน้าที่ในการผจญเพลิงหรือระงับเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น ประกอบกับบรรยากาศในบริษัท GC ก็มีนโยบาย สนับสนุนให้พนักงานคิดค้นเครื่องมือ สิ่งประดิษฐ์ Special Tool สำหรับใช้ทำงานแทนคนเพื่อลดหรือขจัดความเสี่ยง ไม่เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ปฏิบัติงาน 

          ด้วยเหตุนี้ ทางทีมพยายามคิดและระดมสมอง โดยตั้งคำถามว่า “ถ้าเกิดไฟไหม้ มีสารเคมีอันตรายรั่วไหลและต้องการให้นักดับเพลิงเข้าไปจัดการใกล้แหล่งกำเนิดไฟหรือสารเคมีอันตรายนั้นได้มากที่สุด และปลอดภัยที่สุด จะทำอย่างไรได้บ้าง” ซึ่งกระบวนการคิด กระบวนการจินตนาการต่างๆ ก็เริ่มขึ้น โดยใช้กระบวนการ Design Thinking เป็นกรอบในการดำเนินการ มีการพูดคุยกันเองในหมู่คนหน้างาน รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในองค์กร มาร่วมบูรณาการ จนในที่สุด ก็ตกผลึก มีความเห็นร่วมกันว่า “เราน่าจะต้องมีตัวช่วย มีอุปกรณ์มาทำงานแทนเรา” จึงมีการค้นหาข้อมูล หา Idea และพบว่า ช่วงเวลาดังกล่าว ในต่างประเทศเริ่มมีหุ่นยนต์ดับเพลิงผลิตมาจำหน่ายแต่ราคาสูงมาก (ตัวละประมาณ 3-4 ล้านบาท) ทางทีมจึงมี Idea ว่า “เราน่าจะทำเองได้” เนื่องจากที่บริษัทมีวิศวกร มีช่างที่มีทักษะ มีความรู้หลากหลายและชอบทดลองทำสิ่งใหม่ๆ จึงตั้งทีมขึ้นมาดำเนินการทำ “หุ่นยนต์ดับเพลิง” เพื่อใช้เป็นตัวช่วยนักดับเพลิงตามโจทย์ที่ตั้งไว้ หลังจากมีการหารือและมีจุดหมายชัดเจน จึงเริ่มต้นลงมือทำ โดยคุยกับทีมช่างเชื่อม ช่างประกอบของหน่วยงานบำรุงรักษา เพื่อให้ช่วยประกอบโครงตัวหุ่นยนต์ออกมา พอประกอบเสร็จ ก็เอาระบบควบคุมการทำงานไปใส่ และทดสอบว่าได้ Function ตามต้องการหรือไม่ ทั้งนี้ มีการปรับแต่งอยู่หลายครั้ง (มาก) จนในที่สุด ก็สามารถใช้งานได้ตามต้องการ แต่ดูเหมือนว่า First Generation นี้ เป็นแค่ Prototype ที่ยังต้องการการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจาก ยังมีขนาดเล็ก การเคลื่อนไหวยังไม่คล่องตัว องศาการดับเพลิงจำกัดและยังดับไฟใหญ่ไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ในช่วงนั้น ทราบมาว่าทีม NPC ก็กำลังพัฒนาเรื่อง Robot ดับเพลิงเช่นกัน จึงประสานงานไปทาง NPC เพื่อให้ข้อมูลและนำไปศึกษาต่อยอดความคิดการทำหุ่นยนต์ดับเพลิงดังกล่าว

          ก็นับว่า Synergy กันเลยทีเดียว ทาง NPC มีผู้เชี่ยวชาญการใช้ Drone มีผู้เชี่ยวชาญด้านดับเพลิง มี Fire Engineer รวมถึงมีประสบการณ์หน้างานมากมาย จึงได้ดำเนินการต่อ ภายใต้โจทย์คล้ายๆ กัน และมีความมุ่งมั่นจะสร้างหุ่นยนต์ให้ทำงานเสี่ยงแทนมนุษย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมถึงผู้บริหาร NPC ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จึงถือว่า “ทางสะดวก” ทีมได้ดำเนินการระดมความคิดและลงมือทำงานนี้ต่อ โดยเพิ่มขนาดของหุ่นยนต์ เพิ่มประสิทธิภาพให้ Function ได้หลากหลายเพื่อตอบโจทย์การนำไปใช้งานจริง เช่น ระบบควบคุมระยะไกล ติดกล้องวงจรปิด ติด Sensor ตรวจวัดก๊าซพิษ และอื่นๆ ตามความต้องการ โดยลองผิดลองถูก ทดสอบซ้ำๆ มีทั้งล้มเหลวและสำเร็จ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด ก็ได้ผลงานที่เป็นหุ่นยนต์ดับเพลิงตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 

          โดยมีข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับ Function การใช้งานต่อยอดจาก Prototype แรกดังนี้
               
1) เพิ่มจำนวนสายน้ำดับเพลิง จากเดิม 1 เส้น เป็น 3 เส้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดจำนวนทีมดับเพลิงลง
               
2) ติดตั้งกล้อง เพื่อสามารถส่งเข้าสำรวจจุดรั่วไหลที่มีความเสี่ยงจากสารเคมีไวไฟ และสารเคมีอันตราย ทำให้ทราบสถานการณ์ที่ชัดเจน ถูกต้อง และนำมาใช้เป็นข้อมูลในประเมินสถานการณ์ สำหรับการวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ในการระงับเหตุได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว
               
3) ติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของสารไวไฟ (LEL) เพื่อสำรวจจุดรั่วไหลที่มีความเสี่ยงแทนบุคคล โดยสามารถปรับเปลี่ยน Sensor การตรวจวัดสารเคมีอื่นได้ตามต้องการ
               
4) ติดตั้ง Remote Control พร้อมเสียง Siren เพื่อใช้บังคับการทำงานของหุ่นยนต์ดับเพลิง
               
5) เพิ่มระบบไฟส่องสว่าง เพื่อใช้งานในเวลากลางคืน

          หุ่นยนต์ดับเพลิงนี้ เคยนำไปใช้ระงับเหตุการณ์จริงแล้วหลายงาน เช่น Case ระเบิดและไฟไหม้ โรงงานหมิงตี้เคมิคอล (จ.สมุทรปราการ) ไฟไหม้ Warehouse ที่นิคมมังกรทอง เป็นต้น

          มาถึงตรงนี้ ก็อยากจะให้กำลังใจพวกเราทุกคนที่ทำงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานทุกท่าน หากมีความคิด มี Idea ดีๆ ที่ต้องการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ Pain Point และตอบโจทย์งานด้าน HSE ของเรา ก็ลองหาแนวร่วมหรือลงมือทำ ทำสิ่งไม่มีให้ปรากฎ ถึงแม้ครั้งแรกจะไม่สำเร็จงดงามตามตั้งใจ แต่อย่างน้อยก็มีจุดเริ่มต้น และหากสำเร็จ ก็จะเกิดความภาคภูมิใจ มีคุณประโยชน์สำหรับวิชาชีพสืบต่อไป

 

          ขอบคุณข้อมูลสนับสนุน
               
1) คุณจำเนียร แสงอรุณ ผู้จัดการส่วน Crisis and Emergency Management, GC
               
2) คุณชูศิลป์ นกเด่น ผู้จัดการฝ่าย Emergency Preparedness, NPC
               
3) คุณปราโมทย์ คล้ายเชย Safety and Fire Protection Specialist, NPC
               
4) คุณณัฐธัญ ละอองทอง ผู้จัดการส่วน Emergency Management, NPC

 

Visitors: 419,842