กฎหมายความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า ที่จป. ต้องรู้
เผยแพร่เมื่อ: 12/08/2564....,
เขียนโดย คุณวุฒิพงศ์ ปัทมวิสุทธิ์
ที่ปรึกษาและวิทยากรอิสระ...,
เรื่อง กฎหมายความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า ที่จป. ต้องรู้
สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่นายจ้างจะใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยและเป็นแนวปฏิบัติในการป้องกันอุบัติเหตุและโรคที่เกิดจากการทำงานของลูกจ้าง ของสถานประกอบการ รวมถึงการให้ความรู้ การสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยในการทำงานด้านไฟฟ้า ตามบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยการทำงานระดับต่างๆ ซึ่งต้องบริหารหรือกำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานที่ปฏิบัติงานด้านไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยจะต้องมีความรู้และความเข้าใจในข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยที่มีกฎหมายหลัก ได้แก่ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งบังคับใช้กับสถานประกอบกิจการทุกประเภทที่มีการจ้างงานหรือมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ซึ่งผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีอัตราโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 800,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าอีกหลายฉบับด้วยกัน
สำหรับในบทความนี้ได้รวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้าใน 2 ส่วนคือ
1. กฎหมายที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรด้านไฟฟ้าที่ประกาศใช้แล้ว
o การอบรมหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า
o การทดสอบและประเมินช่างไฟฟ้าภายในอาคาร
o ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
2. กฎหมายด้านการตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปี
o การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตาม พระราชบัญญัติ ความปลอดภัยฯ ในการทำงาน พ.ศ.2554
o การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตาม พระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
o การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตาม พระราชบัญญัติ โรงงาน พ.ศ.2535
1. กฎหมายที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรด้านไฟฟ้าที่ประกาศใช้แล้ว
สำหรับในส่วนของบุคลากรที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะกล่าวถึงในส่วนของกระทรวงแรงงานมีทั้งในส่วนของกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 2545 รวมถึง พระราชบัญญัติ วิศวกร 2542 โดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและหัวหน้างานยังมีความเข้าใจและสับสนอยู่พอสมควร ทั้งนี้จะขอแบ่งบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเป็น 3 ระดับคือ ผู้ใช้เครื่องใช้และบริภัณฑ์ไฟฟ้า ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า และช่างไฟฟ้าหรือวิศวกรไฟฟ้า
1.1 ผู้ใช้เครื่องใช้และบริภัณฑ์ไฟฟ้า บุคลากรทุกคนในสถานประกอบกิจการนับว่าเป็นผู้ใช้และบริภัณฑ์ไฟฟ้าโดยจะต้องตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้งานเครี่องใช้และบริภัณฑ์ไฟฟ้า ต้องมีความรู้เบื้องต้นในการใช้งานอย่างถูกต้อง ถูกวิธี โดยศึกษาจากคู่มือการใช้งาน เลือกใช้งานให้ถูกต้อง ติดตั้งและซ่อมบำรุงรักษาโดยผู้ชำนาญงาน การให้ความรู้สำหรับผู้ใช้ฯ จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามกฎหมายหลักสูตรดังนี้
o หลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับลูกจ้างทั่วไปและลูกจ้างเข้าทำงานใหม่
o หลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับลูกจ้างเปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงแตกต่างไปจากเดิม
สำหรับบุคลากรกรระดับบังคับบัญชาจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามกฎหมายหลักสูตรดังนี้
o หลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับลูกจ้างระดับบริหาร
o หลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับลูกจ้างระดับหัวหน้างาน
โดยการอบรมหลักสูตรต่างๆจะมีเนื้อหาในเรื่องกฎหมายความปลอดภัย การป้องกันและควบคุมอันตรายจากไฟฟ้า ซึ่งสามารถนำไปใช้และปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานได้
1.2 ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า หมายความว่า ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือหน้าที่อื่นในลักษณะเดียวกัน กับระบบไฟฟ้า บริภัณฑ์ไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้า โดยผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าจะต้องเข้ารับการฝึกอบรม ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าสำหรับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 ดังนี้
o หลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าให้กับลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า โดยมีหัวข้อวิชาคือ
1) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า
2) สาเหตุและการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
3) การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้า และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
โดยรวมของผู้ที่เข้าข่ายเป็น ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า คือลูกจ้างที่ปฏิบัติงานแล้วจะมีโอกาสสัมผัสกับขั้วไฟฟ้า สายไฟฟ้าหรือจุดต่อที่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ หรือช่างติดตั้งหรือซ่อม บำรุงรักษาระบบอื่นๆ หรือทำหน้าที่หลายๆอย่างในสถานประกอบกิจการ
1.3 ช่างไฟฟ้าหรือวิศวกรไฟฟ้า หมายถึงช่างหรือวิศวกรที่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพทางด้านไฟฟ้าโดยตรงสำหรับ ช่างไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ได้กำหนดสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าดังนี้
1) สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร
2) สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร
3) สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม
4) สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าการควบคุมทางอุตสาหกรรม
5) สาขาช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก
ตามประกาศกระทรวงแรงงานเรื่อง กำหนดสาขาอาชีพ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ นอกจากช่างไฟฟ้าในอาคารที่บังคับใช้แล้วสำหรับสาขาไฟฟ้าอื่นๆจะมีการประกาศกำหนดบังคับใช้ในอนาคตต่อไป
สำหรับ วิศวกรไฟฟ้า ที่ปฏิบัติงานในขอบเขตของงานวิศวกรรมควบคุม งานให้คำปรึกษา งานวางโครงการ งานออกแบบคำนวณ งานควบคุมการสร้างหรือผลิต งานพิจารณาตรวจสอบ และงานอำนวยการใช้ ตามพระราชบัญญัติ วิศวกร พ.ศ. 2542 จะต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (ก.ว.) โดยสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จะมีงานไฟฟ้ากำลังและไฟฟ้าสื่อสาร ซึ่งจะสามารถปฏิบัติงานตามขอบข่ายวิศวกรรมควบคุมหรือวิศวกรรมไม่ควบคุมได้ตามขอบข่ายงานที่กำหนดไว้
2. กฎหมายด้านการตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปี
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าในสถานประกอบกิจการ รวมถึงอาคารควบคุมและโรงงาน จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยจะต้องนำมาปฏิบัติและดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบระบบไฟฟ้า 3 ฉบับคือ
o การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตาม พระราชบัญญัติ ความปลอดภัยฯ ในการทำงาน พ.ศ.2554
o การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตาม พระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
o การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตาม พระราชบัญญัติ โรงงาน พ.ศ.2535
2.1 การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตาม พรบ. ความปลอดภัยฯ ในการทำงาน พ.ศ.2554
ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสอบและจัดให้มีการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าของสถานประกอบกิจการเพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และจัดทำบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า
ทั้งนี้กรณีนายจ้างได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยมีวิศวกรไฟฟ้าเป็นผู้บันทึกผลการตรวจสอบให้ถือว่าเป็นการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้าตามประกาศฉบับนี้ด้วย โดยที่อาจไม่ต้องมีการตรวจซ้ำซ้อนกัน
2.2 การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตาม พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีอาคารควบคุม 9 ประเภทที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคาร ผู้โดยผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม ทำการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคาร อุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า และการจัดแสงสว่าง ระบบการเตือน การป้องกันและการระงับอัคคีภัย การป้องกันอันตรายเมื่อมีเหตุชุลมุนวุ่นวาย ระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบเครื่องกล หรือระบบอื่น ๆ ของอาคารที่จำเป็นต่อการป้องกันภยันตรายต่าง ๆ แล้วรายงานผลการตรวจสอบต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวง โดยมีการตรวจสอบปกติ ประจำปี และ การตรวจสอบใหญ่ทุก 5 ปี
2.3 การตรวจสอบระบบไฟฟ้า ตาม พรบ. โรงงาน พ.ศ. 2535 (ปรับปรุง พ.ศ. 2562)
ตามพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ธุรกิจโรงงานที่มีเครื่องจักรไม่ถึง 50 แรงม้าหรือคนงานไม่เกิน 50 คนไม่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) โดย โรงงานที่มีขนาดมากกว่าที่กำหนดต้องดำเนินการตรวจสอบ โดยผู้ตรวจสอบเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตตรวจสอบรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
สำหรับผู้ตรวจสอบเอกชนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และมีประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่าห้าปีในงานที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัย ด้านสารเคมี ด้านไฟฟ้า ด้านพลังงาน ด้านเครื่องกล ด้านโยธา หรือด้านอื่น ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมด้านหนึ่งด้านใดก็ได้
บทสรุป
กฎหมายเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทุกระดับจะต้องตระหนักและติดตามข้อกำหนดตามกฎหมายความปลอดภัยต่างๆอยู่เสมอ เพื่อนำมาปรับปรุง ป้องกันอุบัติเหตุและพัฒนาด้านความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและจะต้องมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ผู้ปฏิบัติงาน บำรุงรักษาบริภัณฑ์และระบบไฟฟ้าต่างๆ
สามารถติดตาม OHSWA Meet the Professional: Safety Engineer for Jor Por Series เรื่อง “พื้นฐานความปลอดภัยด้านไฟฟ้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยต้องรู้” ในเรื่องต่อไป
EP.1 : อันตรายและการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า (กค. 64)
EP.2 : กฎหมายความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า ที่จป. ต้องรู้ (ส.ค. 2564)
EP.3 : PPE สำหรับงานไฟฟ้า (ก.ย. 2564)
EP.4 : การตรวจสอบระบบไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับ จป. (ต.ค. 2564)
EP. 5 : มาตรฐานทางไฟฟ้าและมาตรฐานเครื่องใช้ไฟฟ้า ในสถานประกอบกิจการ (พ.ย. 2564)
EP.6 : เครื่องมือวัดทางไฟฟ้าเบื้องต้น สำหรับ จป. (ธ.ค. 2564)
ข้อมูลอ้างอิง (Reference source)
- พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
- กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 กระทรวงแรงงาน
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า
- พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 2545
- ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสาขาอาชีพ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะซึ่งต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
- พระราชบัญญัติ วิศวกร พ.ศ. 2542
- ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำบันทึกผลการตรวจสอบและรับรองระบบไฟฟ้าและบริภัณฑ์ไฟฟ้า
- พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
- หลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท ฉบับปรับปรุง (พ.ศ.2558) จัดทำโดย กรุงเทพมหานคร วสท. BSA
- พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และ พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
- คู่มือการตรวจสอบความปลอดภัยระบบไฟฟ้าโรงงาน (ฉบับปรับปรุงใหม่ 2559) กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม