งานเคลือบและป้องกันพื้นผิว (Coating protection surface)

เผยแพร่เมื่อ:  17/08/2564....,
เขียนโดย คุณอนุชา ฉิมเชิด
               ผู้จัดการหน่วยงานความปลอดภัยในการทำงาน 
               
บริษัท เดบโบราห์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด...,

 

ตอนที่ 2 งานเคลือบและป้องกันพื้นผิว
(Coating protection surface)

          ต่อเนื่องจากตอนที่แล้วกล่าวนำถึงวิธีการเตรียมพื้นผิวให้เกิดความหยาบที่ผิว (Surface profile) เพื่อทำการเคลือบผิวเพื่อปกป้องด้วยวัสดุต่างๆตามวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้งาน

          วัสดุและวิธีการเคลือบปกป้องผิวโลหะมีมากมายหลายชนิดแต่ที่จะกล่าวถึงในงานสร้างชิ้นงาน (Module) ส่วนประกอบของ โรงไฟฟ้า โครงสร้างแท่นขุดเจาะและผลิตน้ำมัน ชุดท่อส่งก๊าซและน้ำมัน จะใช้การเคลือบด้วยสีชนิด อิพ๊อกซี่ (Epoxy) สีทนไฟ (Fire Proofing) การพ่นเคลือบด้วยความร้อน (Thermal Spraying)

          กระบวนการปฏิบัติงานทั้ง 3 แบบมีความแตกต่างกันแต่ก็จะมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานคือ
                    
o   การปฏิบัติงานที่ต้องมีการสัมผัสสารเคมีในรูปแบบของสารตัวทำละลาย (Solvent) สารที่เป็นส่วนผสมในวัสดุเคลือบจะระบุใน SDS ของสารเคลือบเช่น Xylene, Benzene, Polymer of epoxy resin, Solvent naphtha.สัมผัสอนุภาคจากฟูม (Fumes)
                    
o   การปฏิบัติงานในพื้นที่ปิดคลุม (Encapsulate) บางพื้นที่การปฏิบัติงานจะเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ (Confined Space)
                    
o   การปฏิบัติงานต้องมีระบบระบายอากาศ ( Ventilation Systems)
                    
o   การใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment) โดยเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันระบบการหายใจต้องเหมาะสมกับลักษณะงาน

          การประเมินความเสี่ยงในงานพ่นเคลือบสีด้วยปั๊มแรงดันสูง (Airless Spray pump)
                    
เป็นความเสี่ยงจากแหล่งกำเนิดพลังงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลักษณะงานที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ประกอบไปด้วย
                              - 
สารเคมี (Chemical) จากการสัมผัสกับสีหรือวัสดุที่ใช้ในการพ่นจึงต้องมีอุปกรณ์ป้องกันการเข้าสู่ร่างกายของสารเคมีที่ใช้ อย่างครบถ้วนประกอบไปด้วย หมวกคลุมศีรษะ (Hood) กรณีที่มีละอองสีหรือสารเคมีเจือจางจากการระบายอากาศได้จะใช้แบบนี้ โดยใช้ร่วมกับ แว่นครอบดวงตา (Goggle)  และหน้ากากกรองสารเคมีชนิดมีตลับกรอง แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่ไม่ซับซ้อน การเคลื่อนตัวของผู้ปฏิบัติงานสะดวก ไม่ต้องปีนป่ายหรือหรือเข้าไปในช่องแคบๆสามารถใช้หมวกคลุมชนิดมีสายส่งอากาศเข้าที่หมวกได้ ชุดคลุมป้องกันละอองสี (Chemical suit) ถุงมือยาง (Rubber Gloves) รองเท้า(Boots)
                                 
จป.จะต้องเตรียมความพร้อมในขั้นตอนนี้คือ
                                        o 
ตรวจสอบอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้ในงานพ่นเคลือบสีเป็นไปตามข้อกำหนดในการปฏิบัติงานและการเลือกใช้ชนิดอุปกรณ์ตรงกับลักษณะการใช้งานหรือ (Specification) การเลือกชนิดตลับกรองให้เหมาะสมกับสารเคมีที่ใช้ เช่น กรองสารอินทรีย์ (Organic Vapor) กรองฟูมโลหะ (Particulate Organic Vapor filter)
                                        o 
การเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันดวงตาต้องใช้ชนิดที่ปิดครอบดวงตาทั้งหมดไม่อนุญาตให้ใช้แว่นตาหรือพ่นสีด้วยตาเปล่า  
                                        o 
การเลือกใช้ถุงมือต้องทำด้วยวัสดุที่มีความทนทานต่อการการทำปฏิกิริยาจากสารเคมี ได้เช่น ถุงมือ  ไนไตร (Nitrile Gloves)
                                        o 
อย่าลืมศึกษา SDS ของสารเคมีที่ใช้และทำการแนะนำพนักงานก่อนเริ่มปฏิบัติงาน

                              - แรงดัน (Pressure) เนื่องจากวัสดุที่นำมาใช้เคลือบจะเป็นสารทีมีส่วนผสมที่มีความหนืดและบางชนิดมีน้ำหนักมาก ฉนั้นแรงดันที่จะใช้พ่นจึงต้องมีแรงดันสูง ปกติแรงดันที่เกิดจากเครื่องอัดอากาศ (Air Compressor) ที่มีใช้งานทั่วไปจะผลิตแรงดันออกมาจากเครื่องอยู่ที่ 125 PSI (8.6 bar) แต่แรงดันที่ต้องการใช้พ่นสีชนิดนี้คือ 2,000-3,000 PSI (137-206 bar) ต้องใช้เครื่องพ่นสีที่เพิ่มแรงดันให้สูงขึ้นเรียกว่า Airless Spray pump ในเครื่องพ่นสีชนิดนี้จะมีตัวปรับเพิ่ม ลดแรงดัน (Air Regulator) ที่ป้อนเข้าเครื่องที่อัตราดัชนีเพิ่มแรงกัน (Ratio) ปกติที่ใช้ทั่วไปก็จะมี 1:50 , 1:63

      

                                 จป.จะต้องเตรียมความพร้อมในขั้นตอนนี้คือ
                                           o 
ตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้งานต้องมีการตรวจสอบสภาพพร้อมใช้งาน สายลม สายพ่นสี จุดต่อสาย อุปกรณ์ความปลอดภัยที่ใช้ประกอบกับอุปกรณ์พ่นสี  อุปกรณ์วัดค่าแรงดัน (pressure Gage) วาล์วควบคุมแรงดัน (Release Valve)
                                           o 
ตรวจสอบเอกสารรับรองการทดสอบภาชนะรับแรงดันของอุปกรณ์โดยวิศวกร วันที่ทดสอบ วันหมดอายุ

                              - การยศาสตร์ (Ergonomic) การปฏิบัติงานที่มีพื้นที่จำกัด ต้องมีการก้มตัว ปีนขึ้นลงตามลักษณะงาน การปฏิบัติในพื้นที่คับแคบ
                                
 จป.จะต้องเตรียมความพร้อมในขั้นตอนนี้คือ
                                           o 
ตรวจสอบพื้นที่การปฏิบัติงานตำแหน่งที่พนักงานยืนพ่นสียืนได้ถนัดมั่นคงลักษณะ
                                           o 
ประสานงานกับหัวหน้างานถึงแผนการปฏิบัติงานกำหนดเวลาเข้า และเวลาออก เพื่อควบคุมระยะเวลาในการปฏิบัติงานของพนักงานให้สัมพันธ์กันกับลักษณะความยากง่ายของพื้นที่ปฏิบัติ ระยะเวลาที่ไม่เกิดอันตรายในการสัมผัสสารเคมี

                              - ไฟฟ้าสถิตย์ (Static Electricity) ที่เกิดขึ้นขณะทำการพ่นเป็นสาเหตุของการเกิดเหตุฉุกเฉิน ไฟไหม้หรือระเบิดถ้าทำอยู่ในพื้นที่จำกัดและองค์ประกอบของการเกิดไฟครบปริมาณพอดี

                                 จป.จะต้องเตรียมความพร้อมในขั้นตอนนี้คือ
                                           o 
ตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องพ่นสีต้องมีการติดตั้งสายดินและต่อลงกราวด์ที่ได้มาตรฐานมีหลักฐานการตรวจวัดค่าความต้านทานเรียบร้อย

 

          เป็นอย่างไรบ้างครับการบวนการ ป้องกันพื้นผิว (Coating protection surface)แบบพ่นสีเคลือบพื้นผิวดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆที่เราพบเห็นอยู่ทั่วไปแต่เราอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่ทำให้มีผลต่อผู้ปฏิบัติแล้วยังมีอันตรายอื่นๆตามที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นให้เตรียมความพร้อมในแนวทางป้องกัน โดยในตอนต่อไปจะพูดถึงกรณีตัวอย่างการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บกับการปฏิบัติงานในลักษณะนี้ที่เคยเกิดขึ้นทั้งในบ้านเราและต่างประเทศมาให้อ่านกัน ติดตามต่อใน ตอนที่ 3 ครับ

Visitors: 422,198