การกำหนดขอบเขต บริบท และหลักเกณฑ์ (Scope, Context and Criteria)
เผยแพร่เมื่อ: 15/11/2564
เขียนโดย อาจารย์ ดร.วรวิช นาคแป้น
อาจารย์ประจำหลักสูตรอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช...,
เรื่อง การกำหนดขอบเขต บริบท และหลักเกณฑ์
(Scope, Context and Criteria)
องค์ประกอบที่เราจะมาทำความเข้าใจกันในวันนี้คือ “ขอบเขต บริบท และหลักเกณฑ์” วัตถุประสงค์ของขั้นตอนนี้คือการปรับแต่งภาพรวมของการบริหารจัดการความเสี่ยงภายในองค์กร กำหนดนิยามเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน รวมถึงมีการใช้หลักเกณฑ์ที่ยอมรับได้มาเป็นตัวกำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน ทุกท่านจะเห็นได้ว่าขั้นตอนนี้จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่มีหน้าที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนี้
1. ขอบเขต (Scope)
ในระยะเริ่มต้นของการบริการจัดการความเสี่ยง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องทำการกำหนดขอบเขตขึ้นมาอย่างชัดเจน กำหนดการบริหารจัดการความเสี่ยงนี้จะครอบคลุมถึงระดับใดบ้าง เช่น ระดับกลุยทธ์ ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ ระดับแผนงาน ระดับโครงการ เป็นต้น ถ้ามีการกำหนดและระบุขอบเขตอย่างชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษร จะทำให้ทิศทางการทำงานเป็นไปตามที่ต้องการ
เมื่อมีการวางแผนเพื่อกำหนดขอบเขต สิ่งที่ควรพิจารณาควรประกอบด้วย:
- วัตถุประสงค์ของการดำเนินการ
- ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการจัดการความเสี่ยง
- ระยะเวลา (สำหรับการดำเนินงานจนเสร็จสิ้น) สถานที่ (ระบุให้ชัดเจนว่าครอบคลุมส่วนใดบ้าง)
- เครื่องมือและเทคนิคที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยง (ต้องมีการพิจารณาถึงความเหมาะสม)
- แหล่งข้อมูลที่จำเป็น
- มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดที่จัดเจน
- การบูรณการถึงโครงการอื่น ๆ ภายในองค์กร
- สุดท้ายคือการคำนึงถึงการเก็บบันทึกข้อมูลเพื่อการสืบค้น
2. บริบท (Context)
การกำหนดบริบทนั้นหมายถึงการกำหนดตัวแปรที่จะมีผลกระทบหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการ บางครั้งสามารถเรียกได้อีกอย่างนึงว่า “สภาพแวดล้อมขององค์กร” ในการกำหนดบริบทที่ดีนั้นจะต้องมีความเฉพาะเจาะจงที่เพียงพอเหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการความเสี่ยง กำหนดนโยบาย และเกี่ยวโยงไปถึงการจัดทำหลักเกณฑ์ (criteria) บริบทขององค์กรนั้นมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ
1) บริบทภายนอก คือ องค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอกองค์กรที่จะมามีอิทธิพลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการ เช่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม กฎหมาย ข้อบังคับ สภาวะการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นต้น
2) บริบทภายใน คือ องค์ประกอบที่อยู่ภายในองค์กรและมีผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของการบริหารจัดการความเสี่ยง เช่น ระบบบริหารจัดการพื้นฐาน (โครงสร้างองค์กร นโยบาย วัตถุประสงค์ บทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ) วัฒนธรรม พันธกิจ กลยุทธ์ ระบบสารสนเทศ เทคโนโลยี เป็นต้น
3. หลักเกณฑ์ (Criteria)
ในการบริหารจัดการความเสี่ยงควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของชนิดและปริมาณของความเสี่ยงที่จะถูกนับรวมเข้ามาในกระบวนการ (หรือไม่นับรวม)ให้ชัดเจน หลักเกณฑ์เหล่านี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินความสำคัญของความเสี่ยงนั้น ๆ และเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น การสร้างหลักเกณฑ์ที่ดีควรเป็นผลจากการสะท้อนสิ่งที่องค์กรให้คุณค่า ความสำคัญ และ ดำเนินการร่วมกับวัตถุประสงค์หลักขององค์กร