การตรวจวัดแสงสว่างบริเวณที่มีการสัญจรในภาวะฉุกเฉิน

เผยแพร่เมื่อ 22 ตุลาคม 2567
เขียนโดย คุณทิพรัตน์ นาคมอญ และ รศ.ดร.ปวีณา มีประดิษฐ์

 

การตรวจวัดแสงสว่างบริเวณที่มีการสัญจรในภาวะฉุกเฉิน

          การตรวจวัดแสงสว่างในพื้นที่การทำงาน เป็นกระบวนการที่สำคัญในการประเมินความเหมาะสมของระดับแสงสว่างสำหรับการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงในบริเวณที่มีการสัญจรในภาวะฉุกเฉิน (ทางออกฉุกเฉิน เส้นทางหนีไฟ บันไดทางฉุกเฉิน) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น อุบัติเหตุ อัคคีภัย น้ำท่วม หรือการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอื่น ๆ แสงสว่างมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารและให้ความช่วยเหลือ เมื่อมีการเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ไม่ปกติ มักจะต้องการการมองเห็นที่ชัดเจนเพื่อให้การตอบสนองเป็นไปอย่างรวดเร็ว การตรวจสอบค่าความเข้มของแสงสว่างจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่าระดับแสงสว่างอยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน โดยค่ามาตรฐานแสงสว่างจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของงาน และต้องไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง พ.ศ. 2561

          การตรวจวัดแสงสว่างบริเวณที่มีการสัญจรในภาวะฉุกเฉินตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์สภาวะการทำงานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียง รวมทั้งระยะเวลาและประเภทกิจการที่ต้องดำเนินการ พ.ศ. 2561 กำหนดให้ใช้วิธีการตรวจวัดตามภาคผนวก ก การวัดความส่องสว่างในระบบแสงสว่างฉุกเฉินของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศ โดยต้องคำนวณจุดที่วัดเพื่อมาหาค่าเฉลี่ยของแสงสว่าง ซึ่งคำนวณจากพื้นที่ตารางเมตรทั้งหมดของเส้นทางฉุกเฉินหารด้วย 25 จะได้จำนวนจุดที่จะต้องตรวจวัดออกมา และไม่ว่ากรณีใดจำนวนค่าที่วัดไม่ควรน้อยกว่า 4 ค่า ในการเลือกจุดแนะนำให้เลือกจุดวัดจำนวนหนึ่งของพื้นที่ที่มีความสว่างต่ำสุด ได้แก่ ระหว่างโคมไฟฟ้าฉุกเฉิน โดยเฉพาะในช่องบันได, พื้นที่ทำงานวิกฤต, ในพื้นที่ซึ่งมีการติดตั้งโคมไฟฟ้าฉุกเฉินที่ระดับสูงที่สุด, ที่ซึ่งมีระยะห่างระหว่างโคมไฟฟ้าฉุกเฉินมากที่สุด, จุดที่มีการเปลี่ยนทิศทาง หรือที่ธรณีประตูทางออก (ภาพที่ 1) และที่สำคัญการวัดค่าความส่องสว่างในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องวัดในแนวระนาบที่พื้นผิวทางเดิน (ภาพที่ 2) เมื่อทำการตรวจวัดบริเวณที่มีการสัญจรในภาวะฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว จึงนำค่าความเข้มของแสงสว่างทั้งหมดที่ตรวจวัดตลอดเส้นทางที่ตรวจได้มาหาค่าเฉลี่ย โดยตามกฎหมายจะต้องมีค่าเฉลี่ยความเข้มแสงสว่างไม่น้อยกว่า 10 ลักซ์

ภาพที่ 1 ตัวอย่างการเลือกจุดวัดจำนวนหนึ่งของพื้นที่ที่มีความสว่างต่ำสุด
ที่มา : https://thinkofliving.com/

 

 

ภาพที่ 2 การวัดในแนวระนาบที่พื้นผิวทางเดิน

          วิธีการตรวจวัดแสงสว่างในบริเวณที่มีการสัญจรในภาวะฉุกเฉินตามกฎหมายกำหนดเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะแสงสว่างสามารถเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความปลอดภัยและช่วยให้การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ทุกหน่วยงานควรให้ความสำคัญกับการตรวจวัดและปรับปรุงระบบแสงสว่างอย่างต่อเนื่องในทุกสถานการณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน

 

เอกสารอ้างอิง
     1. กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559.(17 ตุลาคม 2559). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 133 ตอนที่ 91 ก หน้า 48-54.
     2. ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง พ.ศ. 2561. (21 กุมภาพันธ์ 2561). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนพิเศษ 39 ง หน้า 15.
     3. ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์สภาวะการทำงานเกี่ยวกับระดับความร้อน แสงสว่าง หรือเสียง รวมทั้งระยะเวลาและประเภทกิจการที่ต้องดำเนินการ พ.ศ.2561. (11 มกราคม 2565). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 139 ตอนพิเศษ 7 ง หน้า 6-8.
     4. วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2561). มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน (พิมพ์ครั้งที่ 1, น.63-65). โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
     5. Nuntanach, D. (2016). บันไดหนีไฟ กับอาคารเก่าในกทม. [บทความจาก SCG Experience]. https://thinkofliving.com/ข่าว/บันไดหนีไฟ-กับอาคารเก่าในกทม-บทความจาก-scg-experience-301314/

 

 

Visitors: 421,746